คำว่า “โลกาภิวัฒน์ (Gobalization)” หมาย ถึง การแพร่กระจายไปทั่วโลก ทุกคนเข้าใจดีว่า เทคโนโลยีและความเป็นไปต่างๆ บนโลกใบนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่บางคนยังยึดติดกับความเคยชินแบบเดิมๆ เคยทำงานมาอย่างไรก็จะทำอยู่อย่างนั้นไม่ค่อยมีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลง เมื่อผู้บริหารนำเอานโยบายและวิธีการทำงานใหม่ๆ เข้ามา ทำให้พนักงานต้องทำอะไรที่ต่างไปจากเดิม ก็จะถูกมองว่าเป็นการสร้างความยุ่งยากเรื่องมากรำคาญใจแก่พวกเขา และมักจะไม่ค่อยได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่ หรือ บางครั้งถึงกับต่อต้านก็มี
แจ็ค เวลซ์ อดีตซีอีโอหรือประธานกรรมการบริหารบริษัทจีอี แจ็ค กล่าวอยู่เสมอว่า มีบริษัทอยู่ 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นพวกที่บอกว่าอนาคตจะทำให้เราประหลาดใจก็จริง แต่เราจะไม่ประหลาดใจกับสิ่งที่ทำให้ประหลาดใจดังกล่าว ขณะที่ประเภทที่สองเป็นพวกที่ต้องประหลาดใจจริงๆ เพราะไม่ได้เตรียมตัวที่จะเผชิญหน้ากับความประหลาดใจ อีกทั้งยังต่อต้านการเปลี่ยนแปลงอีกด้วย ซึ่งแจ็ค เวลซ์ บอกว่า บริษัทจีอีอยู่ในพวกแรก เพราะเขาเชื่ออยู่เสมอว่าหัวใจที่สำคัญคือ จงเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อนที่จะบังคับให้ถูกเปลี่ยน
แต่ถึงกระนั้นก็มีเสียงค่อนแคะว่าแจ็ค เวลซ์ คือเผด็จการตัวจริง เพราะชื่อเสียงของเขาคือการเป็นผู้บริหารที่ “ฉลาดแต่ไร้ความปรานี” เขาเคยได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในเจ้านายมหาโหดของอเมริกาโดยนิตยสารฟอร์จูน ซึ่งสิ่งนี้กลายเป็นโลโก้ติดตัวเขาไปจนกระทั่งวันที่เขาเกษียณ เพราะเขาเข้ามาบริหารบริษัทในช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมายจากกระแสโลกาภิวัฒน์ ซึ่งทำให้ธุรกิจประสบกับปัญหา
บทเรียน : การรับมือกับความเปลี่ยนแปลง
นายอาจิณ ชินงานเดิม ผู้จัดการ Technical Service ได้ร่วมงานกับบริษัทมากว่า 25ปี เมื่อ กิจการของบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นบริษัทมหาชน ผู้บริหารมีนโยบายที่จะปรับปรุงระบบไอทีเพื่อสร้างระบบความปลอดภัยให้เกิด ความเชื่อมั่นในการรักษาข้อมูลความลับของบริษัท และของลูกค้า ซึ่งจะต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานที่จะต้องมีระบบตรวจสอบที่เป็นระบบมาก ขึ้น สิ่งเหล่านี้มักจะมีคำถามจากนายอาจิณ เสมอๆ ซึ่งนายอาจิณมักจะคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลง โดยเห็นว่าเป็นการลงทุนที่เปล่าประโยชน์ จนกระทั่งผู้บริหารมีคำสั่งให้โยกย้าย นายอาจิณ ให้ไปช่วยงานในฝ่ายบริหาร แต่นายอาจิณไม่ยินยอมปฏิบัติตามคำสั่ง บริษัทได้มีหนังสือตักเตือนให้ปฏิบัติตามคำสั่งถึง 2 ครั้ง แต่นายอาจิณก็ยังคงเพิกเฉย บริษัทจึงมีคำสั่งเลิกจ้างนายอาจิณ แน่นอนว่าขั้นตอนต่อไป ก็คือการฟ้องร้องกันที่ศาลแรงงาน ซึ่ง นายอาจิณฟ้องเรียกค่าชดเชยในกรณีการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ศาลได้พิจารณาไกล่เกลี่ยประนีประนอมอยู่หลายครั้ง จึงตกลงกันได้โดยฝ่ายนายจ้างได้จ่ายเงินช่วยเหลือ ให้นายอาจิณไปจำนวนหนึ่ง เรื่องจึงยุติ
อุทาหรณ์นี้ขอฝากเตือนมายังลูกจ้างมืออาชีพทั้งหลาย ให้จำภาษิตลูกจ้างไว้ 2 ข้อ ท่องจำให้ขึ้นใจว่า
ข้อ1.เจ้านายถูกต้องเสมอ
ข้อ 2.ถ้าเจ้านายทำงานผิดพลาดให้กลับไปอ่านดูข้อ 1
ผู้ จัดการหรือเจ้านายหลายคน มักจะไม่ค่อยมีความอดทนในการปรับตัวเข้าหาลูกน้อง เพราะฉะนั้นหากเราต้องการมีความสุขในการทำงานร่วมกับเจ้านาย เราก็ต้องปรับตัวเพื่อทำงานใหม่ให้ได้ ต้องดูว่าเจ้านายชอบทำงานแบบไหน ถึงแม้ว่าเราจะไม่ชอบ หรือขัดกับความเป็นตัวของตัวเองบ้าง แต่ในเมื่อเราเลือกไม่ได้ เราก็ต้องทำ อย่าลืมว่าปัจจุบันทุกองค์กรต้องการคนที่พร้อมที่จะรับเปลี่ยนแปลง (ready to change) เพราะว่าองค์กรที่ดำรงอยู่รอดได้ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา หรือที่นิยมเรียกกันว่า “การบริหารการเปลี่ยนแปลง” (Change Management)
ผมเขียนมาถึงตรงนี้ มักจะมีผู้โต้แย้งว่า เราต้องเปลี่ยนแปลงตามคำสั่งเสมอหรือ จึงขออธิบายว่า การบริหารการเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นการปรับตัวให้พร้อมรับกับการแข่งขันของธุรกิจการปรับตัวขององค์กร และคนในองค์กร แต่การโยกย้ายตำแหน่งหน้าที่เป็นคนละประเด็นกัน ขอให้ศึกษาจากตัวอย่างต่อไปนี้
คำพิพากษาที่ 868/2548:โยกย้ายตำแหน่งหน้าที่ ต้องไม่เป็นการลดตำแหน่ง หากเป็นการลดตำแหน่ง สามารถปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามได้
แม้ นายจ้างจะมีอำนาจบริหารในการโยกย้ายตำแหน่งงานของลูกจ้าง เพื่อให้เหมาะสมแก่งาน เพื่อให้การทำงานของลูกจ้างมีประสิทธิภาพซึ่งมิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพ การจ้างก็ตาม แต่การย้ายนั้นต้องไม่เป็นการลดตำแหน่งหรือค่าจ้างของลูกจ้าง อีกทั้งไม่เป็นการกลั่นแกล้งลูกจ้างด้วย การที่จำเลยย้ายโจทก์ในตำแหน่งเลขานุการประสำนักงานใหญ่ฝ่ายจัดซื้อซึ่งทำ งานธุรการในฝ่ายจัดซื้อไปดำรงตำแหน่งพนักงานทั่วไปประจำแผนกผักและผลไม้ สาขาสุขาภิบาล 1 ของจำเลยซึ่งทำหน้าที่จัดเตรียมสินค้าและชั่งผลไม้ รวมทั้งทำความสะอาดในบริเวณสถานที่ซึ่งมีลักษณะงานที่ด้อยกว่าเดิม
ทั้งเป็นการย้ายโจทก์จากตำแหน่งเลขานุการซึ่งเป็นพนักงานระดับ 4 ไปเป็นพนักงานทั่วไปประจำแผนกผักและผลไม้ ซึ่งหัวหน้าแผนกดังกล่าวเป็นพนักงานระดับ 3 จึงเป็นการย้ายที่ลดตำแหน่งของโจทก์ลง แม้จะจ่ายค่าจ้างเท่าเดิม ก็เป็นคำสั่งย้ายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมแก่โจทก์
การที่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมไปทำงานในตำแหน่งใหม่ที่ต่ำกว่าเดิมนั้น มิใช่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้าง
จำเลย ไม่อาจออกหนังสือเตือนในการกระทำของโจทก์ดังกล่าวได้ การที่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมไปทำงานในตำแหน่งใหม่ จึงมิใช่เป็นการกระทำผิดซ้ำหนังสือเตือน ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (4) เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
แผนประคองกิจการ หรือ Business Continuity Plan (BCP)
ปัจจุบัน กระแสโลกาภิวัฒน์ ทำให้ธุรกิจประสบกับปัญหาอย่างรวดเร็วโดยไม่คาดคิดตามที่เราเห็นเป็นข่าว เช่น การประสบปัญหาทางการเงินหลายองค์กรในสหรัฐอเมริกาและประเทศยุโรป ปัญหาคุณภาพสินค้าของยักษ์ใหญ่วงการยานยนต์ เหตุระเบิดที่แท่นขุดเจาะน้ำมันของบริษัทบริติช ปิโตรเลียม หรือ บีพี ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้น้ำมันรั่วไหลออกมาเป็นจำนวนมากในอ่าวเม็กซิโก เป็นต้น
ดังนั้น หลายองค์กรจึงมักต้องมีการวางแผนรับมือกับวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งอาจเรียกว่า แผนประคองกิจการ หรือ Business Continuity Plan (BCP) หมายถึง แผนงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ที่กำหนดขั้นตอนการดำเนินการ เพื่อรองรับการดำเนินงานต่างๆ ให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ เพื่อสร้างความมั่นใจว่า การปฏิบัติงานปกติ สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อมีเหตุการณ์ที่ทำให้การปฏิบัติงานปกติต้องหยุดชะงักเป็นการชั่วคราว เช่น ภัยธรรมชาติ อัคคีภัย การเกิดโรคระบาดร้ายแรง ฯลฯ
เราจงเตรียมพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง ตามที่แจ็ค เวลซ์ กล่าวว่า จงเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อนที่จะบังคับให้ถูกเปลี่ยน เพราะเกิดเหตุการณ์ความจำเป็นบีบบังคับให้ต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง
เครดิต http://www.oknation.net/blog/Smartlearning/2010/10/27/entry-1
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved
jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด